เมษายน 2544 เป็นต้นมา เรือสินค้า-นำเที่ยวนับร้อยๆ ลำที่วิ่งขึ้นล่องในแม่น้ำโขง ตามกรอบข้อตกลงเปิดเดินเรือพาณิชย์ฯ ไทย พม่า ลาว จีน ล้วนแต่เป็นเรือสัญชาติจีนทั้งสิ้น แต่วันนี้แม่น้ำโขงมีเรือนำเที่ยวสัญชาติไทยวิ่งแล้ว
"เพื่อนที่ไม่เคยกันมานับสิบปีเสิร์ชในกูเกิ้ล เจอเลย ผกายมาศ ผู้ล้างอาถรรพ์แม่น้ำโขง" ผกายมาศ เวียร์รา หรือติ๋ม ประธานกรรมการบริษัทแม่โขง เดลต้า ทราเวลเอเจนซี จำกัด ผู้ให้บริการนำเที่ยวในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ทั้งทางบก ผ่านเส้นทาง R3a และ R3b และทางน้ำผ่านแม่น้ำโขงตอนบน จากเชียงแสน-เชียงรุ่ง เปิดฉากการสนทนากับผู้จัดการ 360องศา ทันทีเมื่อเจอหน้า
หลังจากผู้จัดการ 360องศา ลงพื้นที่สำรวจเส้นทาง R3a ส่วนหนึ่งของเส้นทาง คุน-มั่น กงลู่ (คุนหมิง-กรุงเทพฯ) และการเดินเรือในแม่น้ำโขงเพื่อรายงานความเป็นไปของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
"ผกายมาศ" ถือเป็นนักลงทุนไทยคนหนึ่งที่ยืนหยัดในแม่น้ำโขงได้ยาวนานกว่า 2 ปีแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้นักลงทุน หลายรายที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่นี้ ต้องม้วนเสื่อกลับบ้านแบบ "ไม่เจ๊า ก็เจ๊ง"
ผกายมาศ เวียร์ร่า ผู้บุกเบิกนำเรือโดยสารสัญชาติไทยมาแล่นในลำน้ำโขงเป็นรายแรก
กว่า 2 ปีของแม่โขง เดลต้าฯ ภายใต้การนำเธอ มาถึงวันนี้ กล่าวได้ว่ากำลังเดินมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่ง เธอกำลังเริ่มสร้างตำนานบทใหม่ในแม่น้ำโขง ซึ่งเธอยืนยันว่าไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะ 2 ปีกว่าที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าด้วยความเป็น "ผู้หญิง" ทำให้เธอสามารถยืนบนแม่น้ำโขงได้
เพราะพื้นที่แถบนี้ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ทหาร พื้นที่ความมั่นคง การใช้ความอ่อนโยนของผู้หญิงเข้าไปประสานงานจะราบรื่น มากกว่าการใช้ผู้ชายเข้าไปทำงาน จนอาจเปรียบเปรยได้ว่า "ไอ้ที่ไม่ยอม คุยไปคุยมา ก็ยอมไปครึ่งหนึ่งแล้ว คุยต่อไปอ้าว...ตาย ผมอนุมัติไปตั้งแต่เมื่อไหร่"
วันนี้เธอกำลังสร้างประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งสำหรับการลงทุนในแม่น้ำโขง ด้วยการต่อเรือสัญชาติไทย-ชักธงชาติไทย วิ่งขึ้นลงในแม่น้ำโขงตอนบน
เพราะหลังจากเดือนเมษายน 2544 ที่รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม 4 ชาติ (ไทย พม่า ลาว จีน) ร่วมลงนามเปิดการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขงตอนบน (เชียงรุ่ง-หลวงพระบาง) ร่วมกันที่อำเภอท่าขี้เหล็ก สหภาพเมียนมาร์แล้ว จนถึงทุกวันนี้ เรือแทบทุกลำที่วิ่งในแม่น้ำโขง ทั้งเรือสินค้า-นำเที่ยว-เรือโดยสาร ล้วนแต่เป็นเรือสัญชาติ จีนทั้งสิ้น
เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา บริษัทแม่โขง เดลต้าฯ นำเรือท่องเที่ยวขนาด 80 ที่นั่งลำใหม่มาใช้งาน โดยใช้วิศวกรจาก 3 ชาติ (ไทย ลาว จีน) ร่วมกันคุมงาน
เรือใหม่ลำนี้ถูกสั่งให้ต่อขึ้นที่แขวงหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ประกอบด้วยชั้นธุรกิจ 40 ที่นั่ง ชั้น VIP 40 ที่นั่ง สามารถปรับเป็นห้องประชุมสัมมนาลอยน้ำได้ กว้าง 5 เมตร ยาว 41 เมตร กินน้ำลึก 60 ซม.
เรือส่วนใหญ่ที่ขึ้น-ล่อง อยู่ตามลำน้ำโขงส่วนใหญ่เป็นเรือจีน มีบ้างที่เป็นเรือสัญชาติลาวที่ขนส่งโค-กระบือ ระหว่างแขวง ส่วนเรือไทยมีบ้างแต่เป็นเรือหางยาวขนาดเล็ก
ปัจจุบันเรือลำนี้นำมาเทียบท่าที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง หน้าสำนักงานของบริษัทที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพื่อตกแต่ง เพิ่มอุปกรณ์อำนวยความสะดวก เพิ่มเคาน์เตอร์ พื้นที่ทำกิจกรรมให้ลูกค้า เพราะการล่องเรือในแม่น้ำโขงต้องใช้เวลานานนับสิบๆ ชั่วโมง ต้องมีพื้นที่กิจกรรมบนเรือลดความเบื่อหน่ายให้กับลูกค้า ก่อนจะเริ่มทดลองวิ่งในแม่น้ำโขงอย่างจริงจังในช่วงไฮซีซันของปีนี้ (2552)
"เรือลำนี้จะเป็นเรือสัญชาติไทยลำแรกที่วิ่งในแม่น้ำโขง ถ้าไม่นับพวกเรือหางยาว เรือแจวที่ทำมาหากินในแม่น้ำโขงกัน มานาน" ผกายมาศย้ำว่าเรือลำนี้จดทะเบียน ที่ประเทศไทยเป็นเรือสัญชาติไทย ใช้ชื่อไทยที่ตอนนี้กำลังคิดอยู่ ส่วนกัปตัน ถ้าขึ้นไปทางเชียงแสน จากสามเหลี่ยมทองคำ-สิบสองปันนา จะใช้กัปตันสัญชาติจีน ลูกเรือจีน แต่ถ้าล่องลงไปที่หลวงพระบาง ก็ใช้คนลาว นายน้ำลาว ลูกเรือผสมกันระหว่างจีน-ลาว แต่ฝ่ายต้อนรับทั้งหมดจะใช้คนไทยที่มีทักษะดีกว่า
"อีกลำจะต่อที่ไทย" เธอบอกพร้อมอธิบายต่อว่า เพราะถ้าต่อในจีนก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายจีน เช่น ลูกเรือ ซึ่งทางการจีนจะตรวจสอบหมดทุกคน ลูกเรือต้องอายุไม่เกิน 45 ปีเท่านั้น ถึงจะขับเรือท่องเที่ยวได้ ใบขับขี่ก็ต้องต่ออายุเท่านั้น รวมถึงจำนวนคนที่กำหนดไว้ 48 คน ก็ต้อง 48 คน ถ้าเกิน 48 คน เขาจับลงเลย Passport ก็ไม่แสตมป์ให้คนก็ต้องอยู่รอตรงนั้นจนกว่าจะหาทางกลับเอง แต่อยู่ตรงนี้เราใช้กฎหมายไทย แล้วค่อยไปขออนุญาตเข้าจีนและลาว เพื่อวิ่งเข้าหลวงพระบางด้วย"
ส่วนเรือท่องเที่ยวที่เคยร่วมมือกับบริษัทขนส่งเทียนต๋าสิบสองปันนา รัฐวิสาหกิจของสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน สป.จีน ทั้งเรือ "นกยูงทอง" เรือท่องเที่ยวที่มีห้องพักในตัว รองรับผู้โดยสารได้ 76 คน (ขยายเป็น 130 คน) เรือสามเหลี่ยมทองคำ 8 จุผู้โดยสารได้ 68 คนกับเรือเทียนต๋า 1 และ 2 ที่สามารถจุผู้โดยสารได้ลำละ 48 คน ก็จะค่อยๆ ปลดระวางไป เพราะบางลำจะสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมาก บางลำเริ่มมีปัญหากับอายุการใช้งานที่มากขึ้น เพราะกระแสน้ำในแม่น้ำโขง แตกต่างจากน้ำทะเล และแหล่งน้ำอื่นๆ มาก
ผกายมาศบอกว่าตอนนี้เธอกำลังเจรจากับพาร์ตเนอร์จีนอยู่ว่าจะเอาอย่างไร กันต่อสำหรับเรือเก่าเหล่านี้จะปล่อยหรือไม่ ขณะที่เธอก็อยากเดินเอง แม้ว่าหลังรัฐบาล ไทย มีนโยบายห้ามหน่วยราชการดูงานต่างประเทศ ทำให้ลูกค้ากรุ๊ปทัวร์ล่องน้ำโขงลดน้อยลงไปบ้าง แต่ก็สามารถปรับโปรแกรมเป็นเดินทางระยะสั้นในแม่น้ำโขงเพียง 1 วัน ไม่ต้องออกนอกประเทศขึ้นมารองรับได้ เช่น เปิดห้องสัมมนาลอยน้ำ เป็นต้น
ระหว่างการก่อสร้าง Entertainment Complex อาจได้เห็นเรือขนส่งสินค้าที่เป็นวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่ง เพื่อนำไปส่งยังไซต์งานแล่นผ่านดินแดนเป็นระยะ
รวมถึงระยะหลังจะมีการเปิดใช้เส้นทาง R3a หรือ R3b ขึ้นมาก็ตาม แต่แม่น้ำโขงก็ยังเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากกว่า หน่วยงาน-สถาบันต่างๆ เช่น เทศบาล อบต. อบจ.ที่สามารถหันมาดูงานชายแดนมากขึ้น
"ถ้าเทียบระหว่างทางใต้ อีสานกับเหนือ เขาอยากมาทางเหนือมากกว่าลงใต้ ก็ไม่กล้ากันเท่าไหร่ เพราะฝนตก สึนามิบ้าง เหตุการณ์ทาง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้บ้าง"
เธอมองว่าอนาคตของการท่องเที่ยวแถบสามเหลี่ยมทองคำ-การท่องเที่ยวผ่านแม่น้ำโขงยังไปได้ คนชอบแต่การเดินทาง แม่น้ำโขงต้องใช้เวลานับสิบๆ ชั่วโมง ทำให้คนเบื่อได้ คนจะตื่นเต้นระยะแรกที่ได้ลงเรือแม่น้ำโขง
สิ่งที่ต้องทำก็คือ การสร้างกิจกรรม รองรับบนเรือ เช่น เคาน์เตอร์บาร์ ห้องอาหาร ฯลฯ แต่ไม่ควรเป็นเรือนอน เพราะคนกลัวที่จะนอนระหว่างทางในแม่น้ำโขง
"เดี๋ยวพวกหน่อคำมาสะกิดกลางทาง เขาก็กลัว" เธอย้ำด้วยการหยิบยกเหตุการณ์กองกำลังติดอาวุธในสังกัด "หน่อ คำ" ที่เคลื่อนไหวแถบรัฐฉานตะวันออกของพม่า ที่เคยก่อเหตุยิงเรือตำรวจจีนกลางแม่น้ำโขง เมื่อต้นปี 2552 ที่ผ่านมา สุดท้าย ถูกกองทัพพม่าส่งกำลังจากเชียงตุงเข้ากวาดล้างอย่างรุนแรง
ดังนั้น เธอต้องหาจุดพักกลางทาง อาทิ หมู่บ้านลาว หรือสบโหลย ฝั่งพม่า ที่ปัจจุบันกลายเป็นชุมทางสินค้า-คนมากขึ้น โดยเฉพาะเกาหลีเหนือที่ทะลักมาพักรอเดินทางเข้าไทยอยู่เป็นจำนวนมาก
ส่วนเรือโดยสารก็สามารถบริหารจัดการได้ตามปริมาณผู้โดยสาร เช่น ช่วงพีคเดิมเคยวิ่งเชียงแสน-เชียงรุ่ง (สิบสองปันนา) ไปกลับสัปดาห์ละ 6 เที่ยว (ขาขึ้น จันทร์ พุธ ศุกร์, ขาล่อง อังคาร พฤหัสบดี เสาร์) ก็ปรับเหลือสัปดาห์ละ 2 เที่ยว (ไปกลับรวม 4 เที่ยว) และเมื่อถึงไฮซีซันก็เพิ่มความถี่สูงขึ้นเท่านั้น
ส่วนทางบก ผ่าน R3a (ไทย ลาว จีน) ส่วนหนึ่งของคุน-มั่น กงลู่ หรือคุนหมิง-กรุงเทพฯ โดยมากเน้นหนักเรื่องการเดินทางติดต่อค้าขายมากกว่า เพราะตลอดเส้นทางวนเวียนอยู่ในภูเขา ขณะที่ สปป.ลาวก็กำลังอยู่ระหว่างการจัดระเบียบเดินรถอยู่ เพื่อป้องธุรกิจสัญชาติลาวเอง
ขณะที่ R3b (ไทย พม่า จีน) ที่แม้ก่อสร้างเสร็จมานานหลายปี ที่จีนปิดพรมแดนมาร่วม 3-4 ปี ล่าสุด สป.จีนก็เปิดพรมแดนต้าล่อ หรือต้าลั่ว สิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน ที่เชื่อมต่อกับปลายทาง R3b ที่เมืองลา เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ 4 แห่งสหภาพพม่าของกลุ่ม "อูไซลิน" แต่ในฝั่งพม่ายังไม่เปิดพรมแดนให้ โดยส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการสู้รบระหว่างรัฐบาลพม่า-ชนกลุ่มน้อย ที่พม่าก็ยังไม่สามารถคุมได้ตลอดเส้นทาง และการจัดสรรผลประโยชน์กับกลุ่ม "อูไซลิน" ที่ปกครองพื้นที่อยู่ทั้งเรื่องค่าผ่านทางไกด์ วีซ่า (เข้าเขตปกครอง)
อย่างไรก็ตาม ผกายมาศบอกว่า เส้นทาง R3b ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวไทยอยู่เนืองๆ เพียงแต่ยังไม่สามารถเดินทางทะลุเข้าจีนผ่านทางนี้ได้เท่านั้น
เช่นเดียวกับคนจีน (ไทลื้อ) ที่เดินทางไปมาหาสู่กับญาติพี่น้องในแถบนี้มานานก็ยังคงใช้ Border pass เข้าพม่ามาจนถึงท่าขี้เหล็ก (ตรงข้าม อ.แม่สาย จ. เชียงราย) อยู่ บางกลุ่มขับรถมาเองด้วยซ้ำ เพียงยังไม่สามารถข้ามฝั่งมาถึงไทยได้
"จริงๆ พรมแดนพม่า-จีน ไม่ปิดนะ เพียงแต่เขายังไม่ให้คนชาติที่ 3 ข้ามไปมาเท่านั้น" ผกายมาศบอก
ซึ่งปัญหานี้...รอเพียงเวลาในการคลี่คลายเท่านั้น
|